วันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

[HxH] โซนาต้านรกานต์ บทเพลงจากซาตานถึงมนุษย์

บทเพลงและดนตรีต่างๆ นับเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตศักราช และมีบทบาทที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดนตรีเพื่อประกอบพิธีกรรม การใช้กล่อมฝูงสัตว์เลี้ยง หรือดนตรีที่ใช้รับฟังเพื่อความบันเทิง และดนตรีหรือเสียงเพลงยังเป็นสิ่งที่ช่วยเชื่อมให้คนทั้งโลกได้ใกล้ชิดกันโดยไม่มีการแบ่งแยกแนวดนตรีและภาษา

แต่ในทางตรงกันข้าม ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลก ก็ยังมีดนตรีที่ถูกเรียกว่าเป็นดนตรีต้องห้าม ดนตรีต้องคำสาป หรือบทเพลงจากปีศาจ ที่เมื่อได้ฟังก็จะทำให้เกิดหายนะต่อผู้ฟัง ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกเรื่องที่ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ นั่นคือเพลง "โซนาต้านรกานต์" ที่มีตัวละครในเรื่องอย่างฮันเตอร์ดนตรีเซ็นริส เป็นผู้ตามหาและต้องการที่จะทำลายมันทิ้ง และในบทความนี้ เราจะมาคุยกันถีงเรื่องราวของบทเพลงอาถรรพ์ซึ่งมีอยู่ทั้งในเรื่องฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ และในโลกของเรากันค่ะ

เซ็นริส ฮันเตอร์ดนตรีผู้ตามหาโน๊ตเพลงโซนาต้านรกานต์

เพลงโซนาต้า (Sonata) เป็นภาษาอิตาลี มาจากภาษาลาตินว่า "โซนาเร (Sonare)" ที่มีความหมายว่าเสียง เป็นบทเพลงเดี่ยว เน้นบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชิ้นเดียว หรือเป็นบทเพลงเดี่ยวที่มีเปียโนบรรเลงประกอบ เพื่อเน้นเทคนิคการบรรเลงของเครื่องดนตรีเพียงชิ้นเดียว แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของเครื่องดนตรี สุนทรีย์ที่ได้จากเครื่องดนตรีชิ้นเดียว และความสามารถของผู้บรรเลง เพลงโซนาต้าที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในโลก เช่น Moonlight Sonata ของ บีโธเฟน, Turkish March ของ โมสาร์ท หรือ Sonata in B minor ของ ลิซท์

เพลง "โซนาต้านรกานต์" หรือ "Sonata of Darkness, 闇のソナタ (Yami no sonata)" เป็นเพลงบรรเลงเดี่ยวที่ว่ากันว่าซาตานเป็นผู้แต่งขึ้น ได้ยินว่ามีโน๊ต 4 เวอร์ชั่นด้วยกันสำหรับใช้เล่นกับเปียโน ฟลุ๊ต ไวโอลิน และฮาร์ฟ (พิณฝรั่ง) หากมนุษย์นำมาเล่นหรือได้ฟัง จะทำให้เกิดหายนะอันน่าสะพรึงกลัวขึ้น - (ข้อมูลจากหนังสือฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ เล่มที่ 8)
เซ็นริสและเพื่อนๆ ของเธอ เป็นผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องประสบกับความหายนะจากบทเพลงนี้ เธอกล่าวว่าในขณะที่เพื่อนของเธอนำมาเพลงนี้เล่น พวกเธออยู่ในสภาพที่เมากันมาก เซ็นริสซึ่งเป็นคนที่ฟังไปได้เพียงท่อนเดียวถึงกับมีสภาพร่างกายที่ผิดปกติไปจากเดิม ส่วนคนที่เล่นนั้นเสียชีวิตคาที่ และเวอร์ชั่นที่เธอได้ฟังคือเวอร์ชั่นของฟลุ๊ต ด้วยเพราะเหตุนี้ เธอจึงไม่อยากให้ใครต้องมาพบเจอกับเรื่องร้ายๆ จากบทเพลงนี้เหมือนกับเธอและเพื่อน เธอจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นฮันเตอร์ดนตรีเพื่อตามหาโน๊ตเพลงนี้ และทำลายมันทิ้ง

เซ็นริสเล่าเรื่องของเพลงให้คุราปิก้าฟัง จากหนังสือฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ เล่มที่ 8

ขณะเดียวกัน ในโลกของเราก็ยังมีบทเพลงอาถรรพ์ที่ทำให้คนฟังฆ่าตัวตายไปมากกว่า 200 รายทั่วโลก และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง นั่นก็คือเพลง Gloomy Sunday หรือที่ถูกขนานนามว่า "บทเพลงแห่งความตาย" นั่นเอง

Gloomy Sunday หรือแปลได้ว่า "วันอาทิตย์ที่แสนเศร้า" เป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดยกวีชาวฮังการีนามว่า เรสโซ เซเรสส์ (Reszo Seress) เขาเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1899 มีชื่อเดิมว่า "รูดอล์ฟ สปิตเซอร์ (Rudolf Spitzer)" ในวัยเด็ก เขาออกจากโรงเรียนและเริ่มต้นใช้ชีวิตจากการเป็นนักแสดงกายกรรมในคณะละครสัตว์ แต่หลังจากประสบอุบัติเหตุ เขาจึงลาออกมาเป็นนักแสดงในโรงละคร และทำงานเป็นนักดนตรีในร้านอาหารแห่งหนึ่งในเวลาต่อมา

เรสโซ เซเรสส์ กวีชาวฮังการี

ด้วยฐานะที่ยากจน ทำให้เขาต้องหาเลี้ยงชีพโดยการแต่งเพลงไปด้วย ในปีค.ศ. 1933 เขาได้เขียนเพลง Gloomy Sunday ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของลาซโล ยาโวร์ (Laszlo Javor) กวีชาวฮังการี และในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เรสโซซึ่งมีเชื้อสายยิวได้ถูกส่งเข้าค่ายแรงงาน แต่ก็มีชีวิตรอดจนสงครามสิ้นสุด

โดยจุดเริ่มต้นในปีค.ศ. 1933 เกิดขึ้นมาจากเรสโซ นักแต่งเพลงผู้ยากจน เขาพยายามหาเลี้ยงชีพอยู่ในนครปารีส แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะเพลงแต่ละเพลงของเขาไม่ได้รับความสนใจ อีกทั้งคนรักของเขาก็ไม่เห็นด้วย ทำให้ทะเลาะกันอยู่หลายครั้งจนทั้งคู่ต้องแยกทางกัน

ด้วยเหตุนี้ ในวันอาทิตย์วันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่ฝนตก เรสโซผู้หดหู่และเศร้าหมองด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ก็ได้แต่งเพลงนี้ขึ้นมาโดยใช้การบรรเลงด้วยเปียโน เขาใช้เวลาเพียงแค่ 30 นาทีในการแต่งเพลงเสร็จ จากนั้นก็ส่งไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้การยอมรับ จนกระทั่งมีสำนักพิมพ์บทประพันธ์แห่งหนึ่งรับไว้ และหลังจากวันนั้น โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากเพลงบทนี้ก็ได้กระจายไปยังมหานครต่างๆ ทั่วโลก

หลังจากที่เพลงนี้ถูกเผยแพร่ออกไปไม่นาน เรสโซเองก็เจอกับชะตากรรมอันเลวร้าย เมื่อคิดจะไปคืนดีกับคนรัก แต่ในเวลาต่อมาเขาก็พบว่าคนรักของเขาได้กินยาพิษฆ่าตัวตายไปแล้ว และพบแผ่นกระดาษบทเพลง Gloomy Sunday ตกอยู่ข้างร่างของเธอ

ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ชายหนุ่มคนหนึ่งได้ขอให้วงดนตรีเล่นเพลง Gloomy Sunday ให้ฟัง หลังจากนั้น เขากลับบ้านและยิงตัวตายหลังบ่นกับญาติๆ ว่าเขารู้สึกกดดันอย่างรุนแรงกับท่วงทำนองเพลงที่ไม่อาจลบมันออกไปได้

สัปดาห์ต่อมาที่กรุงเบอร์ลิน สาวผู้ช่วยร้านขายของแขวนคอตายอยู่ในแฟลตที่พัก พบบทเพลง Gloomy Sunday อยู่ในห้องของเธอด้วย

สองวันหลังจากนั้น เลขานุการในนิวยอร์กได้ฆ่าตัวตายด้วยแก๊ส เธอเขียนในจดหมายลาตายขอร้องให้เล่นเพลงนี้ในงานศพของเธอด้วย

สัปดาห์ถัดมา ชาวนิวยอร์กอีกรายเป็นชายวัย 82 ปี ได้กระโดดจากหน้าต่างอพาร์ตเม้นท์ชั้น 7 ลงมาตายหลังจากที่เล่นเพลงนี้

ในเวลาไล่เลี่ยกัน วัยรุ่นหนุ่มกรุงโรม ก็ได้กระโดดสะพานฆ่าตัวตาย หลังจากได้ฟังเพลงนี้เช่นเดียวกัน

ไม่นานนัก เจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้หนึ่งได้ยิงตัวตายหลังจากได้อ่านเนื้อเพลงนี้ และรายต่อมา เป็นเด็กผู้หญิงที่พยายามกินยาพิษฆ่าตัวตายเมื่อได้ยินเพลงนี้จากเครื่องเล่นแผ่นเสียง

ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ชายคนหนึ่งได้ยิงตัวตายในขณะที่เพลงนี้กำลังบรรเลงอยู่ และรายอื่นๆ อีกมากมาย

รัฐบาลฮังการีได้สั่งห้ามไม่ให้เปิดเพลงนี้ออกอากาศ แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังเกิดขึ้นในที่อื่นๆ อีก เช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งทางบีบีซีได้ถูกสั่งห้ามเปิดเพลงนี้เช่นกัน แต่ในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ก็ไม่ได้สนใจที่จะออกมาห้ามอย่างรัฐบาลอังกฤษและฮังการี จนทำให้อังกฤษเคยสั่งแบนเพลงนี้ช่วงหนึ่งเนื่องจากกระทบขวัญและกำลังใจของทหารในช่วงสงคราม

และในปี 1968 เรสโซ่ เซเรสส์ ซึ่งไม่สามารถแต่งเพลงได้อีกหลังจากแต่งทำนองเพลง "วันอาทิตย์ที่แสนเศร้า" และความเครียดจากปัญหาในชีวิตหลายอย่าง ทำให้เขาตัดสินใจกระโดดจากชั้นแปดของอาคารแห่งหนึ่งลงมาเสียชีวิต ขณะมีอายุได้ 68 ปี

โดยสรุปแล้ว มีคนฆ่าตัวตายที่เกี่ยวข้องกับเพลงนี้ประมาณ 200 รายทั่วโลก


และความเกี่ยวข้องระหว่างดนตรีกับปิศาจหรือเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติ นอกจากเพลงอาถรรพ์ Gloomy Sunday แล้ว ในประวัติศาสตร์ก็ยังมีเรื่องราวของนักดนตรี ศิลปิน และกวีอีกหลายรายที่กระทำการ "สัญญากับปิศาจ" หรือ Deal with the devil อีกด้วย

การทำสัญญากับปิศาจเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายในภาคตะวันตกของโลก และได้รับการเสริมเติมแต่งมาจากตำนานของเฟาสต์ (Legend of Faust) และตำนานเรื่องปิศาจเมฟิสโตเฟลิส (Mephistopheles) พบมากในนิทานพื้นบ้านที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ โดยเป็นการต่อรองแลกเปลี่ยนของมนุษย์กับซาตาน หรือปิศาจ ซึ่งมนุษย์เสนอจะยกวิญญาณของตนให้กับปิศาจ เพื่อแลกกับการที่ปิศาจจะกระทำบางสิ่งบางอย่างให้ การตอบแทนของปิศาจนี้ล้วนแล้วแต่แตกต่างกันไปตามความเชื่อ เช่น ความเยาว์วัย ความมั่งมี ความรอบรู้ หรืออำนาจวาสนา และยังมีความเชื่อด้วยว่าคนที่ทำสัญญาเช่นนี้เพียงเพื่อแสดงการยอมรับว่าตนมีปิศาจเป็นนาย และไม่ต้องการมีสิ่งใดแลกเปลี่ยนเลย แต่การต่อรองเช่นนี้ก็นับเป็นอันตรายมากๆ อย่างหนึ่ง เพราะค่าตอบแทนแรงงานของปิศาจนั้น ก็คือวิญญาณของผู้ที่มาขอแลกนั่นเอง

ในส่วนของนักดนตรี ก็มีสัญญาในประวัติศาสตร์ซึ่งอ้างว่าทำกับปิศาจ โดยมีความคิดที่ว่า "ขายวิญญาณของเจ้า เพื่อความรุ่งโรจน์หรือความเป็นเลิศทางด้านดนตรีของเจ้า" เกิดขึ้นหลายครั้งในวงการเพลงของโลก โดยเฉพาะในวงการเพลงแนวกีต้าร์นำ หรือวงการเพลงบลูส์ลูกทุ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (pre-World War II rural Blues) และผู้ที่ได้อ้างว่าได้ทำสัญญากับปิศาจเพื่อแลกกับความสามารถด้านดนตรี เช่น นิกโกเลาะ ปากานีนี - นักไวโอลินชาวอิตาลี, จูเซ็ปเป้ ตาร์ตินี่ - นักไวโอลินและนักแต่งเพลงชาวอิตาลี, ทอมมี่ จอหน์สัน - นักดนตรีเพลงบลูส์ เป็นต้น และในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงเรื่องราวของ จูเซ็ปเป้ ตาร์ตินี่ ผู้ถูกกล่าวขานถึงเรื่องนี้กันมากที่สุด และเกี่ยวข้องกับบทเพลงโซนาต้า


จูเซ็ปเป้ ตาร์ตินี่ (Giuseppe Tartini) มีชีวิตอยู่ในปีค.ศ. 1692 - 1770 เป็นยอดนักประพันธ์และนักไวโอลินชาวอิตาลีบุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์โลกดนตรี เป็นหนึ่งในนักประพันธ์เพลงดนตรีบรรเลงที่มีผลงานมากกว่า 400 ผลงาน ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ใช้ในโบสถ์ หรือโอเปร่า และผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ II Trillo del Diavolo หรือรู้จักกันในชื่อ Devil's Trill เป็นบทประพันธ์ไวโอลินโซนาต้าที่มีประวัติชวนให้ขนลุก โดยทุกอย่างเริ่มต้นจากความฝันในคืนหนึ่งของตาร์ตินี่ ในปีค.ศ. 1765

ในคืนนั้น ตาร์ตินี่ได้พบกับบทเพลงไวโอลินโซนาต้าที่ไพเราะที่สุดนชีวิตของเขา เสียงเพลงนั้นพาเขาไปพบกับปิศาจผู้เป็นต้นตอของเสียงเพลงนี้ ในความฝันนั้นเขาได้ส่งไวโอลินของเขาให้กับซาตานที่มอบบทเพลงแสนไพเราะนี้ให้ เพื่อชีวิตการเป็นนักไวโอลินของเขาจะมีชื่อเสียง แต่แล้วทุกอย่างก็หายไปเมื่อเขาตื่นขึ้น ซึ่งตาร์ตินี่ได้เขียนบรรยายไว้ว่า "ผมได้ยินโซนาต้าบทหนึ่งที่แปลกประหลาดแต่ไพเราะมาก บรรเลงด้วยฝีมือชั้นยอดและเปี่ยมด้วยจินตนาการในแบบที่ผมไม่คิดมาก่อนว่าจะมีใครทำได้ ผมรู้สึกหมดเรี่ยวแรงเพราะแทบลืมหายใจ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาด้วยอาการเหนื่อยหอบอย่างหมดแรง ทันใดนั้นเอง ผมเริ่มจับไวโอลิน โดยหวังว่าจะจดจำบางเสี้ยวของสิ่งที่เพิ่งได้ยินมาได้ แต่ก็ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง"


มีเรื่องเล่าว่าหนึ่งปีก่อนที่ตาร์ตินี่จะฝันถึงปิศาจนั้น มือของเขาถูกบาดจากการดวลดาบ และต้องเลิกเล่นไวโอลินไป ทำให้เขารู้สึกหมดหวังในการเล่นไวโอลิน เขาเริ่มหันไปประพันธ์เพลง และเริ่มรับอุปถัมป์นักดนตรีเด็กรุ่นใหม่จากทั่วยุโรป ทำให้เกิดคำพูดติดปากว่า "สิ่งที่สอนได้ แต่ทำไม่ได้" บทเพลง Devil's Sonata กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ และดูเหมือนจะเป็นสิ่งเลวร้ายสำหรับคนที่พยายามจะเล่นเพลงนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เพลงนี้ก็กลายเป็นที่น่าจดจำสำหรับทั่วโลก รวมทั้งเรื่องราวอันน่าพิศวงของตาร์ตินี่เองก็เป็นที่จดจำไม่แพ้กัน และในอีก 5 ปีต่อมา ตาร์ตินี่ได้จากโลกนี้ไปด้วยอายุเพียง 27 ปี

และทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องราวของบทเพลง และดนตรีที่ได้ชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับ และเกิดเรื่องราวน่าแปลกประหลาดขึ้นบนโลกของเราโดยที่ไม่สามารถอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เหมือนกับเรื่องราวน่าขนลุกของเพลง "โซนาต้านรกานต์" ในฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้บรรเลงและรับฟังมัน และยังคงตามหาเนื้อเพลงไม่พบจนปัจจุบัน

อากิ

1 ความคิดเห็น: