วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

[HxH] แฟรงเกนสไตน์ x แฟรงคลิน x ยักษ์ใหญ่แห่งโลกวรรณกรรม

หากพูดถึงตัวละครในเรื่องฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ที่มีรูปร่างหรือภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปนิยมคุ้นชินกัน หนึ่งในนั้น แน่นอนว่าต้องมีตัวละครที่ชื่อว่า "แฟรงคลิน" หนึ่งในสมาชิกกองโจรเงามายาอยู่ในนั้นด้วยแน่นอน

ด้วยลักษณะทางกายภาพที่ดูเหมือนปีศาจชื่อดังก้องโลก หรือที่รู้จักกันในนาม "แฟรงเกนสไตน์" จึงทำให้แฟนๆ ฮันเตอร์ฯ หลายๆ คนคาดเดาที่มาที่ไปของตัวละครตัวนี้กันได้ไม่ยาก และในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับอสุรกายชื่อดัง "แฟรงเกนสไตน์" ผู้เป็นต้นแบบของแฟรงคลินแห่งกองโจรเงามายา และอีกหลากหลายตัวละครจากภาพยนตร์ และการ์ตูนเรื่องต่างๆ กันค่ะ

แฟรงคลิน สมาชิกกองโจรเงามายา

แฟรงเกนสไตน์เป็นผลงานนวนิยายสยองขวัญชื่อดังของแมรี่ วูลส์ตันคราฟท์ เชลลี่ย์ (Marry Wollstonecraft Shelly) เธอเกิดในปีค.ศ. 1797 และเสียชีวิตในปีค.ศ. 1851 เธอเขียนทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ สารคดีท่องเที่ยว ประวัติบุคคล และยังช่วยเป็นบรรณาธิการให้กับงานของสามีที่มีทั้งกวีนิพนธ์และงานเขียนแนวปรัชญา ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอคือนวนิยายเรื่อง Frankenstein : The Modern Prometheus ซึ่งเป็นงานเขียนที่เล่นกับแนวคิดใหม่ของโลก ที่กำลังค้นหาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เช่น การค้นพบไฟฟ้า ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และปรัชญาแนวใหม่

แมรี่ เชลลี่ย์ ผู้แต่งนวนิยายแฟรงเกนสไตน์

เธอได้ความคิดในการเขียนนิยายเรื่องนี้ในปีค.ศ. 1816 ด้วยวัยเพียง 18 ปี ในวันนั้น เธอได้เดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ณ คฤหาสน์ใหญ่ของลอร์ด ไบรอน ที่สวิสเซอร์แลนด์กับสามี แต่สภาพอากาศที่นั่นเกิดฝนตกหนัก ทั้งสามจึงติดอยู่ในคฤหาสน์ไม่สามารถออกไปไหนได้ จึงได้คิดการละเล่นขึ้นมาด้วยการแต่งเรื่องสยองขวัญแข่งกันเองเพื่อหาผู้ชนะที่แต่งได้น่ากลัวที่สุด ปรากฏว่านิยายของแมรี่เป็นเรื่องที่แต่งได้น่ากลัวที่สุด และยังคงความเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

นวนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์นี้มีการแต่งอยู่สามสำนวน แมรี่เขียนสำนวนแรกจบในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1817 และตีพิมพ์ออกจำหน่ายในเดือนมกราคม ปีค.ศ. 1818 ที่ลอนดอน โดยไม่ระบุนามผู้แต่ง และพิมพ์ออกมาเพียง 500 เล่มเท่านั้น ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1822 นวนิยายชุดแฟรงเกนสไตน์ก็ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้ง โดยแบ่งออกเป็นสองเล่มหนึ่งชุด สาเหตุที่ได้รับการตีพิมพ์เพราะนวนิยายเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างเป็นละครเวที และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ระบุชื่อ "แมรี่ เชลลีย์" เป็นผู้ประพันธ์ไว้ด้วย
และสำนวนที่สามนั้นออกวางจำหน่ายในวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1831 เป็นเล่มใหญ่เล่มเดียว แต่เป็นฉบับที่แมรี่แก้ไขขึ้นใหม่เกือบทั้งหมดเพื่อให้ถูกใจนักวิจารณ์ และยังเขียนเพิ่มถึงต้นกำเนิดของนวนิยายเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเป็นสำนวนที่คนนิยมอ่านกันมากที่สุด

นวนิยายแฟรงเกนสไตน์ในยุคแรกๆ

ในโลกวรรณกรรมตะวันตกยุคก่อน นักประพันธ์และกวีส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย นักเขียนและกวีที่มีชื่อเสียงที่สามารถตีตลาดวรรณกรรมได้ล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เกิดขึ้นว่าพวกผู้หญิงไม่มีความคิด หรือด้อยการศึกษา บางคนถึงขนาดกล่าวว่าวรรณกรรมเป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อมสำหรับผู้หญิง แต่ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และความคิดในขณะนั้น ยังมีนักประพันธ์ผู้หญิงอีกหลายๆ คนที่ลุกขึ้นมาจับปากกาโดยไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านั้น และสามารถสร้างชื่อจนถึงระดับสูงได้ และหนึ่งในนั้นก็คือผู้สร้างตัวละครที่โด่งดังที่สุดอย่างแฟรงเกนสไตน์ ก็คือแมรี่ เชลลี่ย์ คนนี้นี่เอง

แฟรงเกนสไตน์เป็นเรื่องราวของนักศึกษาแพทย์คนหนึ่งชื่อ "วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ (Victor Frankenstein)" ที่ทำการสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากชิ้นส่วนซากศพมนุษย์ โดยนำหลายๆ ชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันโดยวิธีทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์

วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ เกิดที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1790 เป็นบุตรของนักการเมืองและคหบดีผู้มั่งคั่ง เขามีเพื่อนสนิทชื่อ เฮนรี่ เคลอวัล ผู้ชักนำให้วิกเตอร์สนใจเรื่องพลังธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้าและแหล่งกำเนิดชีวิต เมื่อเขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ก็ได้นำการศึกษาเรื่องนี้ต่อ โดยมุ่งหวังจะเป็นผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ในการแสวงหาพลังที่ไม่มีใครรู้จักเพื่อไขความลี้ลับของการกำเนิดชีวิต โดยพยายามที่จะทำให้คนที่ตายไปแล้วกลับฟื้นคืนชีพ วิธีการก็คือ นำเอาชิ้นส่วนศพจากหลายศพมาเย็บรวมกันไว้ให้แข็งแรงและสูงใหญ่กว่าคนทั่วไป ในที่สุด วิกเตอร์ก็ทำให้ศพที่เขาเย็บรวมกันนั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้จริงๆ แต่ผู้คนรวมถึงวิกเตอร์ก็พากันหวาดกลัวและไม่มีใครยอมรับมัน

ที่ตั้งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ จุดกำเนิดแฟรงเกนสไตน์

ต่อมาในภายหลัง อสุรกายผู้น่าสงสารตนนี้ก็อยากจะมีเพื่อนบ้าง มันจึงสาบานว่าถ้ามันมีเพื่อน มันจะหลบไปอยู่ในป่าลึก ไม่ยุ่งกับใครอีก แต่วิกเตอร์เจ้านายของมันไม่อยากทำการชุบชีวิตอสุรกายแบบนี้ขึ้นมาอีก อสุรกายตนนี้จึงจำเป็นต้องฆ่าทั้งเพื่อนและคนรักของวิกเตอร์ เพียงเพื่อให้เขาทำตามที่มันขอ สุดท้าย วิกเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ก็หนีไป และตรอมใจตายในที่สุด ซึ่งเมื่ออสุรกายตนนี้รู้ ก็เสียใจและตายตามวิกเตอร์ผู้ให้ชีวิตมัน และต่อมานาม "แฟรงเกนสไตน์" นี้ ก็เป็นชื่อที่คนรุ่นหลังใช้เรียกเจ้าอสุรกายตนนี้แทน

ชื่อ "แฟรงเกนสไตน์" นอกจากจะไม่ใช่ชื่อของเจ้าอสุรกายตัวประหลาดนี้แล้ว คำว่าแฟรงเกนสไตน์ยังสามารถใช้ในความหมายเดียวกับปีศาจ อสุรกาย สัตว์ หรือพืชที่มีลักษณะประหลาดได้อีกด้วย จึงนับเป็นความผิดพลาดในเชิงประวัติศาสตร์ และการใช้คำผิดความหมายนี้ยังส่งผลให้ชื่อของผู้สร้างถูกโอนไปยังสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา ซึ่งแมรี่ เชลลี่ย์ ที่เป็นผู้แต่งนวนิยายเรื่องนี้ ก็ใช้คำเรียกอสุรกายตัวนี้ด้วยคำที่หลากหลาย เช่น Monster, Wretch หรือคำที่เขียนตามแบบวรรณกรรม คือคำว่า Creature, Daemon และใช้คำสรรพนามเวลาเรียกว่า "It" อีกด้วย

อีกหนึ่งความเชื่อในเรื่องของรูปลักษณ์ของแฟรงเกนสไตน์ หากพูดถึงแฟรงเกนสไตน์แล้ว ผู้คนส่วนมากมักจะนึกถึงปีศาจชายร่างใหญ่ตัวเขียว มีน็อตตัวโตอยู่บริเวณขมับทั้งสองข้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่เดิมนั้น แฟรงเกนสไตน์คือปีศาจที่มีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อหลายๆ ชิ้นของมนุษย์ที่ถูกเย็บติดกันทั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดสมอง หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนของอวัยวะต่างๆ  ที่เห็นได้ชัดเจนคือรอยเย็บบนใบหน้าและส่วนต่างๆ ของร่างกาย อีกทั้งวิทยาการทางการแพทย์ในสมัยก่อนยังไม่มีความก้าวหน้ามากนัก จึงทำให้รูปร่างของแฟรงเกนสไตน์ในยุคดั้งเดิมนั้น ไม่ได้ดูน่าเกรงขามจนค่อนไปทางหล่อเหลาเหมือนอย่างในสมัยนี้

ภาพลักษณ์ของแฟรงเกนสไตน์ในยุคดั้งเดิม

นอกจากลักษณะภายนอกแล้ว อิทธิฤทธิ์ของแฟรงเกนสไตน์นั้นก็ยังเป็นที่โจษจันในเรื่องของพละกำลังมหาศาล ทำงานได้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อาวุธธรรมดาไม่สามารถสร้างความเจ็บปวดแก่ปีศาจตนนี้ได้ หรือแม้กระทั่งสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ก็ไม่สามารถสร้างความหวาดหวั่นให้กับมันได้ เนื่องจากถูกสร้างขึ้นโดยวิธีของวิทยาศาสตร์นั่นเอง นอกจากนี้ มันก็ไม่ต้องกินอาหารเพื่อเพิ่มเลือดหรือพละกำลังอีกด้วย

ภาพลักษณ์ของแฟรงเกนสไตน์สมัยใหม่

และด้วยความโด่งดังของนวนิยายเรื่องแฟรงเกนสไตน์นี้ ทำให้สื่อบันเทิงทุกแขนงทั่วโลกพากันนำเรื่องราวของปีศาจตนนี้ไปเผยแพร่ต่อสาธารณะจนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการ์ตูนอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ละคร ละครเวที หรือตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งยังเป็นแบบอย่างสำหรับเค้าโครงหรือรูปร่างตัวละครต่างๆ ในความบันเทิงอีกหลากหลายรูปแบบด้วย

และตัวละคร "แฟรงคลิน" ในฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ก็จัดว่าเป็นตัวละครที่มีการอิงรูปแบบมาจากแฟรงเกนสไตน์ในสมัยใหม่มามาก รวมถึงบทบาทของแฟรงคลินในเรื่อง ยังเป็นตัวละครที่มีความสุขุม แข็งแรง ตัวโต และทรงพลัง ตามแบบฉบับของอสุรกายจากการทดลองผู้ไม่มีชื่อ แต่ผู้คนทั่วโลกต่างเรียกว่า "แฟรงเกนสไตน์" 

แฟรงคลิน เวอร์ชั่นปี 1999

แฟรงคลิน เวอร์ชั่นปี 2011

อากิ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น