วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561

[HxH] สาวพ่อบ้านฝึกหัดแห่งตระกูลโซลดิ๊กและการแบ่งแยกชนชั้น

ฮันเตอร์ x ฮันเตอร์นับเป็นการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่มีตัวละคร ฉาก หรือองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความใกล้เคียงกับโลกของเรา และสามารถนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้ หากใครที่ติดตามฮันเตอร์ x ฮันเตอร์มาโดยตลอด และเป็นผู้ที่ชอบค้นคว้าหาความรู้ตามสื่อต่างๆ อยู่แล้ว ก็คงจะพบเห็นสิ่งต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ที่มีความคล้ายคลึงกับโลกความเป็นจริงของเราอยู่พอสมควร

และในวันนี้ เราจะมาพูดถึงตัวละครอีกตัวซึ่งอาจกล่าวไม่ได้ว่ามีความสำคัญหรือมีบทบาทเท่าไรนักในเรื่อง แต่ก็เป็นตัวละครที่มีความผูกพันกับตัวเอกของเรื่องอย่างคิรัวร์ รวมถึงลักษณะ และภาพลักษณ์ของตัวละครตัวนี้ที่หากผู้ที่รักการผจญภัย หรือชื่นชอบในเรื่องของเรื่องราวรอบโลกเห็นแล้วอาจจะมีความคุ้นเคยและชวนให้นึกถึงคนกลุ่มหนึ่งในโลกของเราก็เป็นได้

ตัวละครที่กล่าวมาก็คือ "คานาเรีย" คานาเรียเป็นพ่อบ้านฝึกหัดของตระกูลโซลดิ๊กซึ่งมีความจงรักภักดีต่อคนในตระกูลเป็นอย่างมาก และมีความผูกพันกับคิรัวร์ในครั้งยังเป็นเด็ก หากพูดถึงรูปลักษณ์หรือลักษณะภายนอกแล้ว ทุกคนคงนึกถึงเด็กผู้หญิงรูปร่างสูงโปร่ง ที่มีจุดเด่นคือทรงผมคล้ายทรงเดรดล็อก และผิวสีเข้มๆ ของเธอ จุดเด่นเหล่านี้เองที่เป็นจุดเชื่อมไปสู่ชนกลุ่มหนึ่งในโลก รวมถึงสิ่งที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น "การเมือง" ภายใต้การปกครองของตระกูลโซลดิ๊กที่คานาเรียเคยพูดถึงในฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ปี 1999 นั่นก็คือการแบ่งแยกระหว่างเจ้านายและลูกน้อง ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวของ "การแบ่งแยกชนชั้น" ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงและชัดเจนเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์บนโลกซึ่งเราได้พบเจอกันมา

คานาเรีย จากหนังสือฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ และจากอนิเมชั่นปี 1999

จากรูปลักษณ์และจุดเด่นที่กล่าวมาของคานาเรีย มีความคล้ายคลึงกับ ชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในประเทศนามิเบีย เป็นชนเผ่าเล็กๆ ในทวีปแอฟริกาที่ยังดำเนินชีวิตแบบวิถีดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น และยังสามารถจำแนกออกจากชนเผ่าอื่นๆ ได้อย่างชัดเจนโดยการสังเกตจากทรงผม นั่นก็คือ ชนเผ่าฮิมบา

ชนเผ่าฮิมบา (Himba) ในประเทศนามิเบีย

ชนเผ่าฮิมบาในปัจจุบันเหลืออยู่เพียงราวๆ 20,000 กว่าคน กระจายอยู่ตามประเทศสองประเทศคือ นามิเบีย และแองโกลา โดยในประเทศนามิเบียมีชนเผ่าฮิมบาอยู่ประมาณ 22,000 - 24,000 คน ชนเผ่าฮิมบาจะมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากชนเผ่าอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาคือการแต่งกายแบบ Topless หรือเปลือยบน และผมเดรดล็อกสีแดงฉานที่เรียกว่า "เอเรมเบ้" คือการแต่งทรงผม โดยจะทำจากวัสดุท้องถิ่น เช่น ดินโคลนสีแดง เนย และหนังลูกแพะ ซึ่งแพะเป็นสัตว์เลี้ยงประจำเผ่าที่แต่ละครอบครัวจะเลี้ยงไว้หลายๆ ตัว การตกแต่งผมที่เรียกว่าเอเรมเบ้นี้ นอกจากจะทำเพื่อความสวยงามแล้ว ยังสามารถบ่งบอกได้ถึงสถานะทางสังคมอีกด้วย


เด็กเล็กๆ ชาวฮิมบาจะโกนศีรษะ แต่เมื่อโตขึ้น ผมจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย โดยเด็กผู้ชายจะมี 1 เปีย ปัดไปด้านหลัง แต่จะไม่ไว้เป็นทรงหางม้า ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีถึง 1 -2 เปียด้านหน้า หรือบางทีอาจมีมากถึง 4 เปีย แต่หากเป็นเด็กหญิงฝาแฝดก็จะมีเพียงแค่คนละเปีย

เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่วัยสาว เปียผมจะเปลี่ยนไปเป็นทรงที่คล้ายกับทรงเดรดล็อก (Dread Lock) โดยนิยมนำผมมาปกปิดใบหน้าเพื่อซ่อนความเป็นสาวแรกแย้ม แต่หากเติบโตขึ้นจนถึงวัยที่สามารถออกเรือนหรือมีครอบครัวได้ ก็จะปัดเสยผมไปด้านหลังเพื่อเผยใบหน้าให้หนุ่มเผ่าเดียวกันได้เห็นอย่างชัดเจน หากเป็นหญิงที่แต่งงานไปแล้วมากกว่า 1 ปี หรือเป็นหญิงที่มีบุตรแล้ว จะสวมเครื่องประดับที่ทำจากหนังสัตว์ไว้บนศีรษะ ส่วนผู้ชาย หากเป็นหนุ่มโสดจะมัดผมเปียชี้ไปทางด้านหลัง ประดับตกแต่งด้วยเส้นใยปาล์มย้อมสีหรือเศษผ้าสวยงามเท่าที่จะหาได้ และจะเปลี่ยนเป็นการโพกศีรษะด้วยผ้าคลุมผมเอาไว้ทั้งหมดก็ต่อเมื่อแต่งงานแล้ว และจะไม่ถอดผ้านั้นออกอีกเลย

เด็กชายชาวเผ่าฮิมบา

ชาวฮิมบาทุกคนเอาใจใส่กับผมของตัวเองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะสละเวลา 2 - 3 ชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อเสริมความงามให้แก่เส้นผมโดยจะป้ายโคลนเสริม และทำให้มันเงาด้วยเนย หรือปั้นหางให้ฟูเป็นพู่ด้วยขนแพะ และพวกเธอยังนอนบนหมอนที่ทำจากไม้เพื่อป้องกันไม่ให้ผมเสียทรงอีกด้วย ส่วนในเรื่องของการทำความสะอาดนั้น พวกเขาไม่มีการอาบน้ำหรือสระผม แต่จะใช้วิธีการอาบควัน โดยการอบตัวและเสื้อผ้าด้วยกำยานที่ทำมาจากไม้ท้องถิ่นที่มีกลิ่นหอมแทน โดยมีความเชื่อว่าเมื่ออบควันจนเหงื่อออก ก็หมายความว่าร่างกายสะอาดแล้ว นอกจากนั้น ชาวฮิมบายังมีไม้เหลาคล้ายลูกดอกเล็กๆ พกไว้คนละอัน เพือใช้ในการเกาศีรษะหากเกิดอาการคันนั่นเอง

การอาบควัน ใช้แทนการอาบน้ำของชาวฮิมบา

คานาเรียและชาวเผ่าฮิมบา

หากใครที่อาจจะยังไม่รู้จักกับประเทศนามิเบีย เนื่องจากประเทศนี้ยังไม่ได้รับความนิยมหรือมีชื่อเสียงในบ้านเราในฐานะประเทศท่องเที่ยวเท่าไหร่  เราก็มีข้อมูลเล็กน้อยของประเทศนามิเบียมาฝากให้ได้ทำความรู้จักคร่าวๆ กันค่ะ

นามิเบีย (Namibia) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐนามิเบีย (Republic of Namibia) เป็นประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก พรมแดนทิศเหนือติดกับประเทศแองโกลาและแซมเบีย ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศซิมบับเว ทิศตะวันออกติดกับบอตสวานา และทางทิศใต้ติดกับประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศนามิเบียได้รับเอกราชจากประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี ค.ศ. 1990 มีเมืองหลวงคือวินด์ฮุก

ธงชาติและที่ตั้งของประเทศนามิเบีย

และอีกหนึ่งประเด็นที่ได้มีการกล่าวถึงกันไปข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องของ "การแบ่งแยกชนชั้น" ที่ปรากฏในฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ ปี 1999 (ไม่แน่ใจว่าในมังงะและในปี 2011 มีพูดถึงไว้รึเปล่า ขออภัยนะคะ) หากใครจำฉากหลังจากที่กอร์นพยายามจะเดินผ่านประตูที่คานาเรียเฝ้าอยู่เพื่อไปหาคิรัวร์ และโดนคานาเรียฟาดจนสภาพยับเยินได้ ในตอนนั้น คานาเรียได้บอกกับพวกกอร์นว่าตัวเธอเป็นเพียงลูกจ้าง ลูกจ้างกับเจ้านายในตระกูลโซลดิ๊กอาศัยกันแบบต่างคนต่างอยู่ เจ้านายจะไม่เหลียวลงมามองลูกจ้างอย่างเธอ ในขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆ ต่อเจ้านายเช่นกัน อีกทั้งคานาเรียยังเป็นตัวละครที่มีผิวสี ซึ่งในประเด็นนี้ชวนให้นึกถึงประวัติศาสตร์แห่งการแบ่งแยกที่เกิดขึ้นในแอฟริกา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุด เพราะที่นี่ถูกการแบ่งแย่กโดยการเหยียดสีผิวอย่างรุนแรงนั่นเองค่ะ


ระบบการแบ่งแยกชนชั้นและสีผิวมีชื่อว่าระบบ "อะพาร์เธด (Apartheid)" ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "การแบ่งแยก" ระบบนี้ถูกใช้ในประเทศแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ. 1948 - 1991 เป็นโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความความคิดที่มีการแบ่งแยกของสีผิวอย่างชัดเจน 

และการทดสอบประชากรที่เกิดใหม่ว่าเด็กคนไหนมีผิวสีอะไรก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายวิธี แต่มีอยู่หนึ่งวิธีการที่ดังที่สุดคือวิธีที่เรียกว่า Pencil Test หรือการทดสอบด้วยดินสอ เด็กบางคนที่เกิดมาอาจจะดูหน้าตาหรือรูปลักษณ์ภายนอกไม่ออกว่าเป็นคนผิวขาวหรือเป็นคนผิวสี สิ่งที่เด็กจะโดนกระทำคือการใช้ดินสอปักไปที่ผม ถ้าดินสอร่วงลงมา แสดงว่าเด็กคนนี้ผมตรง จึงไม่ใช่คนผิวดำอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากว่าเด็กคนไหนที่ดินสอปักติดอยู่กับศีรษะก็ถือว่าเป็นคนดำ เป็นระบบที่ผิดกับหลักตรรกะทั่วไปของมนุษย์ แต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับกันได้ในสังคมของแอฟริกาใต้มาเกือบห้าสิบปี เพราะลึกๆ แล้ว คนทั่วไปต้องการการแบ่งแยก และคนขาวต้องการได้เปรียบ พวกคนดำในยุคนั้นจึงไม่สามารถทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตประจำวันใดๆ ร่วมกับคนขาวได้ เช่น คนดำไม่สามารถเข้าไปรับประทานอาหารในร้านอาหารบางร้านได้ เพราะหน้าประตูมีป้ายแขวนไว้ว่า "เฉพาะคนขาว" ถ้าเข้าไปได้ ก็ทำได้เพียงซื้อห่อกลับบ้านเท่านั้น นั่งกับคนขาวไม่ได้ ทานข้าวด้วยกันไม่ได้ ห้องน้ำสาธารณะก็แบ่งตามสีผิว มีห้องน้ำสำหรับคนผิวขาวโดยเฉพาะ ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า "ห้องน้ำยุโรป" และเรียกห้องน้ำคนดำว่า "ห้องน้ำแอฟริกัน" รวมถึงสถานที่สาธารณะอื่นๆ เช่น โรงพยาบาล สวนสัตว์ หรือแม้แต่พิพิธภัณฑ์ก็มีการแยกทางเข้าสำหรับคนขาวและคนดำเช่นกัน คนผิวดำจึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเพราะโดนแบ่งแยกออกไป

ภาพจำลองวิธีทดสอบ Pencil Test

ระบบอะพาร์เธดนี้ นอกจากจะบังคับการแบ่งแยกสีผิวด้วยโครงสร้างทางกฎหมายแล้ว ภายหลังจากมีโครงสร้างขึ้นมารองรับ ก็ต้องทำให้ประชาชนยินดีทำตามโดยเริ่มด้วยการใช้โฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนซึมซับตั้งแต่วัยเด็ก ในโรงเรียนของคนผิวขาวนั้น เด็กจะถูกสั่งสอนว่าตนอยู่เหนือคนอื่น และเด็กๆ ต้องเรียนประวัติศาสตร์ในแง่ว่าคนขาวคือผู้พิชิตคนดำ สร้างภาพลักษณ์ของคนดำว่าต้องต่ำต้อยกว่าและดูเป็นพวกป่าเถื่อน ในขณะเดียวกัน ก็สร้างระบบการศึกษาแย่ๆ ให้กับเด็กผิวดำ เมื่อเรียนจบ คนผิวดำจะรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่า รวมถึงความรู้ก็ได้รับไม่เท่ากัน


เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การล่าอาณานิคมและการค้าทาสในแอฟริกา เราจะพบว่าชาวแอฟริกันหรือคนผิวดำนั้นถูกชาวยุโรปเข้ายึดครองพื้นที่ แย่งชิงผลประโยชน์แอฟริกาทั้งทวีป และตกเป็นอาณานิคมของยุโรปจนเกือบหมดทั้งสิ้น (ยกเว้นประเทศเอธิโอเปียและไลบีเรีย)

ในช่วงศตวรรษที่ 16 - 19 ชาวแอฟริกาประมาณ 12 ล้านคนถูกส่งตัวข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานทาสในไร่นาและเหมือนแร่ของโลกใหม่ ประมาณ 85% ของทาสถูกส่งไปยังบราซิลและอาณานิคมต่างๆ ของอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน และดัตช์ในแถบแคริบเบียน ราวๆ 6% ถูกส่งไปยังประเทศอาณานิคมอื่นซึ่งภายหลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

และด้วยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ จึงอาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องราวของคานาเรีย การแบ่งแยกเจ้านายและลูกน้องของตระกูลโซลดิ๊ก มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง มีความคล้ายคลึง และชวนให้นึกถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา บวกกับลักษณะทางกายภาพของคานาเรียที่ดูเป็นคนผิวสี และคล้ายคลึงกับชนเผ่าฮิมบาตามที่กล่าวมา จึงทำให้เราอาจจะตีความได้ว่าในโลกของฮันเตอร์ x ฮันเตอร์นั้น หากมีประวัติศาสตร์เรื่องราวของคนผิวสี การตกเป็นอาณานิคม และการค้าทาสผิวดำ ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับโลกแห่งความจริงของเรามากเลยทีเดียว



หมายเหตุ : การเปรียบเทียบเผ่าพันธุ์ ลักษณะทางกายภาพ รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาเชื่อมโยงนั้น ไม่ได้เป็นการการันตีหรือยืนยันชัดเจนโดยตรงว่าอ. โยชิฮิโระ โทงาชิ ได้นำมาต้นแบบจริงๆ แต่อย่างใด หากแต่เป็นการเปรียบเทียบ และแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนซึ่งเป็นแฟนการ์ตูนฮันเตอร์ x ฮันเตอร์ และสนใจเรื่องการท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์เท่านั้น

Special Thanks : ขอบคุณข้อมูลดีๆ เรื่องชนเผ่าฮิมบา ระบบอะพาร์เธด การล่าอาณานิคมและการค้าทาสผิวดำจาก Wikipedia หนังสือทาสในอเมริกาปี 1619 - 1877 และรายการเถื่อน Travel 

อากิ